ลักษณะทั่วไปที่ทารกคลอดก่อนกำหนด ก่อปัญหาแก่มารดาและผู้ดูแล มีรากฐานของปัญหาดังต่อไปนี้
- ปัญหาด้านพฤติกรรม
- พฤติกรรมการนอนหลับและการตื่น สำหรับแบบแผนการนอนหลับและการตื่น
ของทารก จากการศึกษาของอาร์ดูลา อังเดรส์ อัลดานา และเรอวิลลา (Ardura, Andress, Aldana, & Revilla, 1995) พบว่าในช่วงอายุ 1 เดือนแรก ทารกคลอดก่อนกำหนดหลับมากกว่าทารกคลอด ครบกำหนด โดยมีช่วงการนอนหลับเฉลี่ย 17.15 ชั่วโมงต่อวัน หลับในเวลากลางวัน 8.96 ชั่วโมง และหลับในเวลากลางคืน 8.19 ชั่วโมง ส่วนทารกครบกำหนด มีช่วงเวลาการหลับ 11.94-14.78 ชั่วโมงต่อวัน ทารกคลอดก่อนกำหนดหลับในเวลากลางวันมากกว่าทารกครบกำหนดถึงร้อยละ 15 ซึ่งแบบแผนการหลับและตื่นมีความสัมพันธ์กับวุฒิภาวะของสมองส่วนซีรีบรัล คอร์เทกซ์ (cerebral cortex) - พฤติกรรมการร้อง
เป็นพฤติกรรมเบื้องต้นที่ทารกใช้สื่อสารกับมารดาเมื่อมี ความต้องการ และรู้สึกไม่สุขสบายในระบบทางเดินอาหาร และเรียกร้องความสนใจ สาเหตุการร้องอาจเนื่องมาจาก ความหิว ความอ่อนล้า ได้รับการกระตุ้นมากเกินไป ไม่สุขสบาย หรือบางครั้งก็หาสาเหตุไม่ได้ (McMillan, DeAngelis, Feigin, & Warshow, 1999) เรียกว่า การร้อง “โคลิก” ซึ่งจะเกิดขึ้นในทารก 10-20 % โดยระยะเวลาการร้องของทารกจะประมาณ 60- 90 นาทีใน 1 วันในระยะ 3 สัปดาห์แรกหลังคลอด สำหรับทารกคลอดก่อนกำหนดระยะเวลาการเกิดอาจช้ากว่านี้ได้ และการร้องจะเพิ่มเป็น 2-4 ชั่วโมงต่อวัน ในสัปดาห์ที่ 6 และจะลดลงเมื่อทารกอายุได้ 3 เดือน (Deacon, 1999: 360; Wong, 1995 cited in McMillan, DeAngelis, Feigin, & Warshow, 1999) ทารกคลอดก่อนกำหนดมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการกระตุ้นไม่แน่นอน อาจร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุชัดเจน จึงดูเหมือนว่าเมื่อทารกร้องไห้จะปลอบให้หยุดได้ยาก (Johnson-Crowley, 1993) - พฤติกรรมการกิน
ระยะ 1-2 เดือนแรก ทารกคลอดก่อนกำหนดมักดูดนมได้ช้า
และต้องการการดูดบ่อยครั้งกว่าทารกครบเพราะส่วนใหญ่มักหลับ เวลาในการตื่นเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ทำให้การดูดนมแต่ละครั้งได้ปริมาณน้อยจึงหิวบ่อย (Gorski, 1988) - การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมารดาและทารกคลอดก่อนกำหนด
ทารกคลอดก่อนกำหนดมีพฤติกรรมการตอบสนองไม่แน่นอน ยิ่งคลอดก่อนกำหนดมากพฤติกรรมการแสดงออกยิ่งยากต่อการแปลความหมาย มีการตอบสนองด้านสังคมต่ำ เงียบเฉย ไม่ค่อยต่อต้านหรือ ขัดขืน และมีแนวโน้มจะตอบสนองในทางลบมากกว่าทารกครบกำหนด พฤติกรรมดังกล่าว ทำให้บิดามารดาไม่เข้าใจและสับสน เช่น ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จึงจะป้อนนม เมื่อไหร่จึงจะเล่นด้วยได้และเมื่อไหร่จึงจะปล่อยให้อยู่ตามลำพัง เป็นต้น มีการศึกษาพบว่า ทารกที่มีอายุในครรภ์ 34-37 สัปดาห์ น้ำหนักตัวมากกว่า 1,200 กรัม มีสุขภาพดี มีพื้นฐานอารมณ์ (temperament) ไม่แตกต่างจากทารกคลอดครบกำหนด ส่วนทารกที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 34 สัปดาห์น้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,200 กรัม มักเจ็บป่วยง่าย และเลี้ยงยากกว่าทารกคลอดครบกำหนด(Johnson-Crowley, 1993)
- พฤติกรรมการนอนหลับและการตื่น สำหรับแบบแผนการนอนหลับและการตื่น
- ปัญหาด้านสุขภาพ
- การติดเชื้อ
ทารกแรกเกิดมีความเปราะบางและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายในช่วงขวบปีแรกของชีวิต ทั้งนี้เนื่องจากกลไกการป้องกันการติดเชื้อยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ รวมทั้งมีการลดระดับของอิมมูโนโกลบูลินจี (immunoglobulin G) ซึ่งทำหน้าที่ในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย เพราะทารกคลอดก่อนกำหนดได้รับอิมมูโนโกลบูลินจี จากมารดาในระดับต่ำกว่าทารกคลอดครบกำหนด มีรายงานว่าทารกคลอดก่อนกำหนดจะมีระดับอิมมูโนโกลบูลินจี น้อยกว่า 100 มก/ดล ในช่วงอายุ 2-3 เดือนแรกหลังคลอด ในขณะที่ทารกคลอดครบกำหนดมีถึง 400-500 มก/ดล ในช่วงอายุเดียวกัน (Brueggemeyer, 1993; Blackburn, 1995) - โลหิตจาง เนื่องจากมีเหล็กสะสมไว้น้อยและจะถูกนำออกมาทดแทน
ระดับฮีโมโกลบินที่ลดลงจากการเจริญเติบโต ทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนดมีภาวะโลหิตจางโดยธรรมชาติที่รุนแรง และยาวนานกว่าทารกคลอดครบกำหนด (Blackburn, 1995) - รูปแบบการหายใจ
จะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวได้ในช่วง 6 เดือนแรกเนื่องจากการพัฒนาของระบบทางเดินหายใจไม่สมบูรณ์ (เกรียงศักดิ์ จีระแพทย์, 2536) ทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนดหายใจมีเสียงดัง โดยเฉพาะในขณะที่ทารก นอนหลับหรืออยู่ในห้องที่เงียบสงบ มีลักษณะการหายใจที่ไม่สม่ำเสมอ และอัตราการหายใจที่มีการเปลี่ยนแปลงมากในขณะตื่นและนอนหลับ (Blackburn, 1995) - ปัญหาเกี่ยวกับระบบกระเพาะอาหารและลำไส้ (gastrointestinal) ได้แก่
- อาการปวดท้องแบบโคลิค (colic) หมายถึง การร้องไห้กวนอย่างมากเป็นระยะๆ ในช่วง 3 เดือนแรก โดยมักจะเริ่มในสัปดาห์ที่ 2-3 ในทารกคลอดก่อนกำหนดจะช้ากว่านี้ (Lang & Ballard, 1988) การร้องแบบโคลิคเป็นลักษณะการร้องแบบหาสาเหตุไม่ได้ โดยมักจะร้องตอนบ่ายแก่ๆ หรือตอนเช้ามืด โดยระยะเวลาการร้องประมาณ 3-4 ชั่วโมงหรืออาจจะมากกว่า โดยจะเกิดขึ้น 10-20 เปอร์เซ็นต์ในทารกทั้งหมด (Grover, 1996 cited in McMillan, DeAngelis, Feigin & Warshow, 1999) อาการร้องโคลิคโดยทั่วไปจะหายไปเมื่อทารกอายุประมาณ 3 เดือน แต่ทารกบางคนอาจร้องจนกระทั่งอายุ 6 เดือน
- การสำรอกนม อาเจียนและการไหลย้อนของนมเข้าสู่ หลอดอาหาร (gastrointestinal reflux) เนื่องจากกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะอาหารยังไม่แข็งแรงจึงไม่สามารถป้องกันการไหลเวียนกลับของของเหลวจากกระเพาะอาหารได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้สาเหตุอาจเกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้องร่วมด้วยคือ การให้นมไม่ถูกวิธี เช่น ภายหลังดูดนมแล้ว ไม่ได้ไล่ลมและอุ้มทารกเคลื่อนไหวมากเกินความจำเป็นหรือให้นมทารกในปริมาณมากเกินไป (Blackburn, 1995)
- ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบและไส้เลื่อนบริเวณสะดือ (inquinal and umbilicalhernia)
ทารกคลอดก่อนกำหนดพบอุบัติการณ์การเป็นไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบสูงกว่าทารกคลอดครบกำหนด และพบในอัตราส่วน 10:1 สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการที่อัณฑะยังไม่เคลื่อนตัวลงถุงอัณฑะทำให้มีการคงอยู่ของ precessus vaginalis ซึ่งจะมีทางติดต่อสู่ภายในช่องท้องได้ เมื่อทารกร้องไห้หรือมีความดันในช่องท้องทำให้มีการเคลื่อนตัวของลำไส้เล็กลงสู่บริเวณขาหนีบ ซึ่งจะเป็นรอยโป่งนูนและจะหายไปเมื่อทารกสงบเงียบ สำหรับลำไส้ไส้เลื่อนบริเวณสะดือ เกิดขึ้นเนื่องจากผนังหน้าท้องของทารกคลอดก่อนกำหนดยังไม่แข็งแรงเมื่อทารกร้องไห้หรือมีความดันในช่องท้อง จะมีการเคลื่อนตัวของลำไส้เล็กสู่บริเวณสะดือ (Scherer & Grosfeld, 1993) - ความผิดปกติทางด้านระบบประสาทสัมผัส (sensory disorder)
- การมองเห็น (vision) ได้แก่ภาวะ การมีพยาธิสภาพที่จอตา (retinopathy of prematurity) เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของเส้นเลือดจอประสาทตา ทำให้มี ความเปราะบาง แตกง่ายทำให้มีเลือดออกและเกิดแผลเป็นในจอประสาทตาเกิดการดึงรั้งมี การหลุดลอกของจอประสาทตา เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความบกพร่องในการมองเห็นและ ตาบอดในที่สุด ทารกคลอดก่อนกำหนดที่อายุครรภ์น้อยกว่า 35-36 สัปดาห์หรือน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,000 กรัม ทุกรายจะต้องได้รับการตรวจตาจากจักษุแพทย์ก่อนจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล และจะตรวจซ้ำในสัปดาห์ที่ 7-9 นอกจากนี้ทารกคลอดก่อนกำหนดยังมีปัญหาในการมองเห็นอื่นๆอีกซึ่งได้แก่ ตาเหล่ ตามัว สายตาสั้น สายตายาว เป็นต้น ดังนั้นการตรวจตาอย่างสม่ำเสมอในระยะ 1-2 ปีแรกของชีวิตจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญถึงแม้ไม่มีอุบัติการณ์ของพยาธิสภาพที่จอประสาทตาก็ตาม (Blackburn, 1995)
- การได้ยิน (hearing) ทารกคลอดก่อนมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินสูงกว่าทารกคลอดครบกำหนด อุบัติการณ์ของการสูญเสียการได้ยินมี 1 ใน 5 คนของประชากรทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกจะต้องได้รับการตรวจสอบการได้ยินจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลและควรได้รับการคตรวจซ้ำเมื่อทารกอายุได้ 3-6 เดือน การมารับการตรวจหูเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการสูญเสียการได้ยินจะมีผลกระทบต่อพัฒนาการด้านการพูดและภาษาในระยะต่อมา (Blackburn, 1995)
- การติดเชื้อ
- ปัญหาด้านการเจริญเติบโต ทารกคลอดก่อนกำหนดที่จะได้รับการจำหน่ายออกจาก
โรงพยาบาลจะต้องมีการเพิ่มของน้ำหนักตัวในอัตราที่เหมาะสมกับอาหารที่ได้รับ มีปัจจัยหลายประการที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของทารกเหล่านี้ได้แก่ อายุครรภ์ น้ำหนักแรกเกิด ความรุนแรงของความเจ็บป่วย การได้รับอาหาร ความพิการแต่กำเนิด การติดเชื้อ อิทธิพลของสภาพแวดล้อมภายในบ้านและกรรมพันธุ์ ทำให้ทารกกลุ่มนี้เสี่ยงต่อการเจริญเติบโตช้าได้หากได้รับสารอาหาร การดูแลในเรื่องความเจ็บป่วยและปัญหาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับความไม่สมบูรณ์ของระบบต่างๆ ของร่างกายอย่างไม่เหมาะสม (Bernbaum, et al., 1989) ดังนั้นทารกจะต้องได้รับการประเมินเป็นระยะๆ - ปัญหาด้านพัฒนาการทารกกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการมีพัฒนาการช้าตามมาภายหลัง
ในอุบัติการณ์ที่สูงกว่าในทารกคลอดครบกำหนดคือ ในทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนัก 1,000-1,500 กรัม จะมีพัฒนาการช้าร้อยละ 9-20 และถ้าน้ำหนักน้อยกว่า 1,000 กรัม พบว่ามีพัฒนาการช้าถึงร้อยละ 30 (Bernbaum, et al., 1989)
จะเห็นได้ว่าปัญหาดังกล่าวข้างต้นเป็นปัญหาที่บ่งชี้ว่าทารกคลอดก่อนกำหนดจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากมารดา ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจก่อให้เกิดปัญหาในการดูแลแก่มารดาได้ถ้ามารดาไม่มีความสามารถในการดูแล ซึ่งจะส่งผลให้มีพฤติกรรมการดูแลที่ไม่ถูกต้องได้ ทำให้ทารกมี ผลลัพธ์สุขภาพที่ไม่ดีได้
บรรณานุกรม
Ardura, J., Andres, J., Aldana, J., & Revilla, M.A. (1995). Development of sleep-wakefulness
rhythm in premature babies. Acta Paediatrica, 84 : 484-489.
Bernbaum, J.C. (1999). Medical care after discharge. IN G.B. Avery, M.A., Fletcher, M.G.
MacDonald. Neonatology : Pathophysiology & Management of the newborn. (5th ed.).
Philadelphia: Lippincott.
Bernbaum, J.C., Friedman, S., Hoffman-Williamson, M.H., Agostino, J.D., & Farran, A. (1989).
Preterm infant care after hospital discharge. Pediatrics in Review, 10(7), 195-206.
Blackburn, S. (1995). Problem of preterm after discharge. Journal of Obstetrics Gynecologic
And Neonatal Nursing, 24 (1), 43-49.
Deacon, J. (1999). Parental Preparation. In P.J. Thureen, J., Deacon, P. O’Neill, J. Hernandez,
Assessment and care of the well newborn (pp355-407.). Philadelphia : W.B. Saunders.
Gorski, P.A. (1988). Fostering family development after preterm hospitalization. In R.A. Ballard
(Ed), Pediatric care of the ICN graduate (pp. 27-32). Philadelphia : W.B. Saunders
Company.
Johnson-Crowley, N. (1993). Systemic assessment and home follow – up : A basis for
monitoring the neonate’s integration into the family unit. In C. Kenner, A. Brueggemeyer, & L.P. Gunderson (Eds.). Comphrehensive neonatal nursing : A physiologic perspective (pp. 1134-1147). Philadelphia : W.B. Saunders.
Lang, M. D., & Ballard, R.A. (1988). Well-baby care of the ICN graduate. In R.A. Ballard (Ed.),
Pediatric care of the ICN graduate (pp. 40-46). Philadelphia : W.B. Saunders Company.
McMillan, J.A.; DeAngelis, C.D.; Feigin, R.D.; Warshow, J.B. (1999). Oski’s Pediatrics.
Philadelphia : Lippincott.