ประสบการณ์การสร้างเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยทารกภาวะเสี่ยงของ
โรงพยาบาลนครพิงค์ และโรงพยาบาลสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
สถานการณ์การเจ็บป่วยของทารกที่มีอายุน้อยกว่า 28 วัน ในจังหวัดเชียงใหม่ปัจจุบันมีจำนวนมากขึ้น ในปีงบประมาณ 2548 ที่ผ่านมาโรงพยาบาลนครพิงค์รับผู้ป่วยมีทารกเข้ารับการรักษาในหน่วยวิกฤติ จำนวน 288 คน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 53.60 เป็นผู้ป่วยทารกที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลชุมชน และ ร้อยละ 3.60 ส่งต่อมาจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน การดูแลผู้ป่วยทารกดังกล่าว มีเพียงโรงพยาบาลมหาราช นครเชียงใหม่ (8เตียง)โรงพยาบาลนครพิงค์ (9เตียง)และโรงพยาบาลแม่และเด็ก (4เตียง) เท่านั้นที่มีหอผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิดรองรับ ซึ่งมีจำนวนเตียงไม่เพียงพอ การรับส่งต่อผู้ป่วยทารกจึงเป็นปัญหาในระดับจังหวัด แม้ว่าจะมีการแก้ไขโดยการจัดตั้งเครือข่ายการรับส่งต่อ 4 หน่วยงานใหญ่ ได้แก่ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลฝาง โรงพยาบาลจอมทองแล้วนั้น ยังพบว่ามี ปัญหาเรื่องการไม่มีเตียงรองรับการส่งต่อ การส่งต่อไม่ได้รับความสะดวก และทารกอาการแย่ลงระหว่างทางเนื่องจากส่งต่อไปไหนไม่ได้
ปัญหาดังกล่าว มีสาเหตุหลายประการ นับตั้งแต่ ข้อจำกัดของผู้ป่วยทารกที่ไม่สามารถจำหน่ายออกจากหน่วยวิกฤติได้ทันทีหลังจากอาการดีขึ้น ผู้ป่วยทารกบางรายต้องรอการให้ยาปฏิชีวนะครบตามแผนการรักษาของแพทย์ บางรายรอน้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์การจำหน่าย และบางรายรอญาติ ด้วยปัญหาเหล่านี้ ทีมสหสาขาวิชาชีพกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลนครพิงค์ ได้มีความพยายามในการสืบค้นหาข้อมูลและหาแนวร่วมในการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด นับตั้งแต่ จัดโครงการฝึกเพิ่มพูนทักษะ ประสบการณ์แก่พยาบาลโรงพยาบาลชุมชนในการดูแลทารกภาวะเสี่ยง และติดตามออกเยี่ยมโรงพยาบาลชุมชนขนาด 90 เตียงขึ้นไปของจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 4 แห่ง ในช่วงต้นปี 2549 ที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 50 มีหน่วยงานสามารถรองรับทารก ภาวะเสี่ยงรวมอยู่กับหอผู้ป่วยวิกฤติผู้ใหญ่ และ ร้อยละ 50 มีหน่วยงานแยกเป็นสัดส่วน ร้อยละ 75 มีกุมารแพทย์ประจำอยู่ แต่ประสบปัญหาโรงพยาบาลขาดแคลนแพทย์สาขาอื่นๆทำให้กุมารแพทย์ต้องปฏิบัติงานตรวจผู้ป่วยทั่วไป ภาวะขาดแคลนบุคลากรพยาบาล และสำหรับพยาบาลถึงแม้ได้รับการฝึกอบรมการดูแลผู้ป่วยทารกแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีความมั่นใจในการดูแลผู้ป่วยทารกเนื่องจาก เมื่อกลับหน่วยงานแล้วไม่ได้ใช้ หรือใช้น้อย ทำให้ขาดความมั่นใจในการดูแลผู้ป่วยทารก การส่งต่อผู้ป่วยทารก ได้รับการดูแลจากบุคลากรพยาบาลหลากหลายหน่วยงาน และบางส่วนไม่ผ่านการอบรมการส่งต่อผู้ป่วยทารก เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆไม่พร้อม การคมนาคมระหว่างการส่งต่อ ห่างไกล คดเคี้ยว เป็นอุปสรรคต่อการดูแลทารกระหว่างการส่งต่อ
จากปัญหาเหล่านี้ จึงได้มีมติจากคณะกรรมการพัฒนาศักยภาพจังหวัดเชียงใหม่ คณะทำงานระหว่างโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลสันทรายและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ให้โรงพยาบาลสันทรายดำเนินการเปิดหอผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิด เพื่อผ่อนปรนปัญหาดังกล่าว ดังนั้นโรงพยาบาลนครพิงค์จึงได้รับเป็นพี่เลี้ยงในการสร้างเครือข่ายการดูแลทารกภาวะเสี่ยง ปัจจุบัน หอผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิดโรงพยาบาลสันทรายสามารถเปิดให้บริการดูแลผู้ป่วยทารกภาวะเสี่ยงที่มีน้ำหนักน้อย อาการทางระบบทางเดินหายใจ ระบบไหลเวียนและหลอดเลือดที่อาการเริ่มคงที่และ ผ่านการดูแลจากโรงพยาบาลนครพิงค์มาแล้วระยะหนึ่งแต่ยังต้องการดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไปซึ่งได้รับการยินยอม จาก บิดา มารดาก่อนทำการส่งต่อ จำนวน 6 เตียง โดยมีกุมารแพทย์จากโรงพยาบาลนครพิงค์เป็นแกนหลักในการเยี่ยมตรวจตอนเช้าของทุกวันและปฏิบัติงานนอกเวลาสลับกับกุมารแพทย์จากโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีทีมพยาบาลจากหอผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิดโรงพยาบาลนครพิงค์ ออกปฏิบัติงานร่วมในเวลาราชการ 1 เดือนและเปิดรับพยาบาลเวรนอกเวลาที่มีประสบการณ์ในการทำงานในหอผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิด จากโรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ ปฏิบัติงานควบคู่กับพยาบาลในหอผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิดของโรงพยาบาลสันทราย มีระบบการเป็นพี่เลี้ยงออกเยี่ยมเป็นระยะและเป็นที่ปรึกษาในกระบวนการให้การรักษาพยาบาลและด้านเภสัชกรรม ตลอด 24 ชั่วโมง
เบื้องหลังของความสำเร็จในครั้งนี้นับว่า เป็นความพยายามและความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่คณะกรรมการพัฒนาศักยภาพจังหวัดเชียงใหม่ คณะทำงานระหว่างโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลสันทรายและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีความมุ่งมั่น สนับสนุน ส่งเสริมในการแก้ปัญหาการส่งต่อจนสามารถเพิ่มพื้นที่และโอกาสในการเข้าถึงบริการตามสิทธิของผู้ป่วยทารกภาวะเสี่ยงให้ได้รับการตอบสนองการบริการขั้นพื้นฐานในหัวใจของความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง