ทารกเกิดก่อนกำหนดคือทารกที่เกิดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์  ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า 72 % ของทารกเกิดก่อนกำหนดเป็นทารกที่มีอายุครรภ์ระหว่าง 34 ถึง 36 +6  สัปดาห์  ( Hamilton, Martin, & Ventura, 2007 )  ซึ่งหมายถึง 1 ใน 11 ของทารกเกิดมีชีพเป็นทารกกลุ่มนี้ ทารกที่มีอายุครรภ์ต่ำกว่า 37 สัปดาห์เล็กน้อยเช่นนี้มักจะถูกเรียกว่าทารกใกล้ครบกำหนด ( near term infant ) การเรียกทารกกลุ่มนี้ว่าทารกใกล้ครบกำหนดทำให้บุคลากรทางการแพทย์และบิดามารดาคิดว่าทารกกลุ่มนี้เกือบครบกำหนดแล้วจึงดูแลเช่นเดียวกับทารกครบกำหนด แต่แท้จริงแล้วทารกกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่ควรได้รับการประเมินและดูแลอย่างใกล้ชิด ปี 2005 ที่ประชุม National Institute of Health ของสหรัฐอเมริกาจึงเสนอแนะให้เรียกทารกกลุ่มนี้ว่า Late preterm infant ( Walker,2008 )

ทารกที่เป็น late preterm มองดูเหมือนทารกครบกำหนด แต่ทารกกลุ่มนี้ไม่ใช่ทารกครบกำหนด ยังมีความไม่สมบูรณ์ของสรีรวิทยา ระบบประสาท  รวมทั้งกลไกการปรับตัวกับสภาวะนอกมดลูก เช่นความสามารถในการกำจัดน้ำในปอด ( lung fluid ) ออกไปยังทำได้ไม่ดี surfactant  อาจจะยังมีไม่สมบูรณ์ เกิดภาวะหยุดหายใจ ( apnea ) ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหยุดหายใจจากท่านอนที่ไม่ถูกต้อง ( positional apnea ) เช่นท่านอนที่ทำให้ลำคอพับหรือแหงนมากเกินไป  ทารกที่เกิดเป็น late preterm เสี่ยงต่อการเกิด Sudden Infant Dead Syndrome ( SIDS ) เป็น 2 เท่าของทารกที่เกิดครบกำหนด (Raju, Higgins, Strak, & Leveno, 2006 )นอกจากปัญหาระบบหายใจแล้วทารกกลุ่มนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (bradycardia )  หลังเกิดน้ำหนักลดลงมาก  อุณหภูมิกายต่ำ นอนหลับมาก ดูดนมยังไม่เก่ง ดูดนมได้น้อย ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ขาดน้ำ และตัวเหลืองในที่สุด
ทารกกลุ่มนี้มักจะถูกจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลเร็ว แต่มักจะต้องกลับมารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยอาการตัวเหลืองถึง 7 -13 เท่าของทารกทั่วไป ( Maisels & Kring, 1998 )  สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะตัวเหลืองคือทารกกลุ่มนี้ดูดนมได้ไม่แรง  ไม่สามารถอมและดูดลานนมและหัวนมมารดาไว้ในปากได้นาน  อาจจะหมดแรงดูดนมได้ง่าย ทำให้ดูดแล้วได้ปริมาณน้ำนมน้อย ประกอบกับทารกกลุ่มนี้มักจะอยู๋ในระยะหลับเป็นส่วนใหญ่ อยู่ในระยะตื่นน้อย ระยะตื่นก็เป็นช่วงสั้น ๆ ทำให้ผู้ดูแลคิดว่าทารกดูดนมอิ่มแล้ว ทารกจึงได้รับนมไม่พอเพียง ส่งผลให้มีการถ่ายอุจจาระน้อยเกิดตัวเหลืองตามมา

การช่วยเหลือให้ทารกได้รับนมพอเพียงจึงเป็นการดูแลที่สำคัญอย่างหนึ่ง ทารกกลุ่มนี้อาจจะต้องให้ดูดนมบ่อย ๆ วันละ 10 ครั้งขึ้นไป ท่าในการให้นมที่แนะนำคือท่าอุ้มลูกฟุตบอล ( football – hold position ) โดยอุ้มทารกด้วยแขนข้างเดียวกับเต้านมมารดาข้างที่จะให้ทารกดูด และให้ทารกนอนตะแคงบนหมอนที่วางไว้ข้างลำตัวมารดา ปลายเท้าทารกชี้ไปทางด้านหลังมารดา มารดาใช้ฝ่ามือประคองต้นคอและศีรษะของทารกไว้ ท่านี้ต้องระวังเต้านมกดทับทรวงอกของทารกเกิดปัญหาการหายใจได้  หรืออุ้มให้นมในท่า cross cradle โดยอุ้มทารกด้วยแขนข้างตรงข้ามกับเต้านมข้างที่จะให้ทารกดูด ตะแคงศีรษะและลำตัวของทารกให้หันหน้าเข้าหาเต้านมมารดาโดยใช้ฝ่ามือประคองต้นคอและท้ายทอยของทารก   มารดาอาจใช้มือให้อยู่ในท่า Dancer hand ประคองขากรรไกรของทารกไว้จะช่วยลดการใช้แรงดูดและยังช่วยประคองใบหน้าทารกให้อยู่กับทรวงอกมารดาอีกด้วย  การนวดเต้านมไปด้วยจะช่วยให้ทารกดูดได้ง่ายขึ้น ขณะทารกดูดนมควรประเมินความแรงของการดูดและกลืนเพื่อดูว่าทารกได้รับพอหรือไม่  มีคำแนะนำให้ใช้ nipple shield ช่วยในรายที่การดูดไม่แรงพอ  หากทารกดูดเองแล้วได้รับนมไม่พออาจจะช่วยโดยใช้วิธีแขวนกระบอก syringeที่มีน้ำนมมารดาแล้วต่อกับสายยางให้นมขนาดที่เหมาะสม  ติดปลายสายยางไว้กับหัวนมมารดาให้ทารกดูด
ภาวะหลับตื่นของทารกมีความสำคัญในขณะให้ทารกดูดนม ทารกที่อยู่ในระยะตื่นสงบ ( quiet alert ) เหมาะสมที่สุดที่จะให้ดูดนม ทารกกลุ่มนี้ยังไม่สามารถปรับสมดุลของพฤติกรรมได้ดี อยู่ในภาวะรับการกระตุ้นน้อย ( underaroused ) หรือรับการกระตุ้นมาก ( overaroused ) ได้ง่ายเมื่อได้รับการกระตุ้นที่มากเกินไปทารกจะเกิดภาวะปิดการรับรู้ ( shut down ) ซึ่งจะแสดงออกด้วยการเหยียดเกร็งแขน ขา ขมวดคิ้ว หลับตาแน่น สีผิวซีดหรือแดงผิดปกติ หรือบางครั้งทารกจะแสดงออกเหมือนกำลังหลับอยู่  ทารกที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ไม่เหมาะที่จะให้ดูดนม   การลูบไล้ นวด อุ้มโยก พูดคุยด้วย แสงสว่างจ้า เสียงดัง จะเป็นการกระตุ้นทารกที่มากเกินไป  การดูแลทารกกลุ่มนี้จะต้องหลีกเลี่ยงการกระตุ้นหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน  ควรให้สิ่งกระตุ้นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งในเวลานั้นๆ   การดูแลแบบแกงการูจะช่วยให้ทารกที่อยู่ในภาวะ underaroused  overaroused หรือ shut down ปรับสมดุลของภาวะหลับตื่นได้
การศึกษาติดตามพัฒนาการของเด็กที่เป็น late preterm มีน้อยเมื่อเทียบกับการศึกษาในทารกเกิดก่อนกำหนดที่มีอายุครรภ์น้อย ๆ จึงยังไม่ทราบถึงอุบัติการของการเกิดความผิดปกติ เช่น ปัญหาด้านการเรียนรู้  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน   หรือปัญหาพฤติกรรม อย่างไรก็ตามมีการศึกษาพบว่า 19 – 20 % ของทารกที่เกิดเมื่ออายุครรภ์ 34–37สัปดาห์มีอัตราการเกิดปัญหาพฤติกรรมเมื่ออายุ 8 ปี ซึ่งสูงกว่าอัตราที่พบในทารกที่เกิดครบกำหนด (Raju, Higgins, Strak, & Leveno, 2006 )  ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ล่าสุดพบว่าเมื่ออายุ 5.5 ปีทารกที่เป็น late preterm ได้รับการวินิจฉัยว่ามีสมองพิการ ( cerebral palsy ) มีมากกว่าทารกที่เกิดครบกำหนด ( เกิดเมื่ออายุครรภ์ 37 – 40 สัปดาห์ ) ถึง 3 เท่า ( Petrini, et al, 2009 )

สรุป   ทารกที่เป็น late preterm ที่มองดูเหมือนทารกครบกำหนด แต่แท้จริงยังมีความไม่สมบูรณ์เพียงพอ ควรได้รับการประเมินและดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูดนมมารดา ประเมินและช่วยเหลือให้ทารกได้รับนมอย่างเพียงพอเพื่อลดการเกิดปัญหาน้ำตาลในเลือดต่ำ ขาดน้ำ และตัวเหลือง แนวทางการดูแลด้านโภชนาการและการให้นมมารดาค้นหาเพิ่มเติมใน Care and management of the late preterm infant toolkit : Nutrition  ในhttp://www.cpqcc.org/quality_improvement/qi_toolkits/care_and_management_of_the_late_preterm_infant_toolkit  และ Protocol # 10 : Breast feeding the near – term infant ( 35 – 37 weeks gestation) ใน http://www.bfmed.org/ace-files/protocol/near_term.pdf

เอกสารประกอบการเรียบเรียง

Hamilton,B.E. , Martin,J.A. , & Ventura,S.A.( 2007 ). Birth: preliminary data for 2006. National vital
statistics reports volume 56 no. 7 Hyattsville, MD: National Center for HealthStatistics.
Maisels, M.J., & Kring,E.A. (1998 ).Length of stay, jaundice, and hospital readmission. Peditrics, 101, 995 – 998.
Petrini,J.R. et al . ( 2009 ). Increased risk of adverse neurological development for late preterm
infants. The Journal of Pediatrics, 154, 169 – 176.
Raju,T., Higgins, R.D., Stark, A.R.,& Leveno ,K. J.( 2006 ). Optimizing care and outcome for late-
preterm (near-term) infants: A Summary of the Workshop Sponsored by the
National   Institute of Child Health and Human Development. Pediatrics, 118 ( 3 ), 1207-1214.
Walker, M. ( 2008). Breastfeeding the late preterm infant. Journal of Obstetric, Gynecologic &
Neonatal Nursing, 37, 692 – 701.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *