การลดการสูญเสียน้ำและความร้อนทางผิวหนังในทารกเกิดก่อนกำหนด

การควบคุมอุณหภูมิกายให้เป็นปกติมีความสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลทารกเกิดก่อนกำหนด  เนื่องจากทารกเกิดก่อนกำหนดมีความสามารถในการปรับตัวให้มีอุณหภูมิกายคงที่จำกัด  หากไม่สามารถควบคุมให้ทารกมีอุณหภูมิกายปกติจะทำให้ทารกเสี่ยงที่เสียชีวิต ความเจ็บป่วยที่เป็นอยู่รุนแรง มากขึ้น  หรือทำให้อัตราการเกิดโรค (morbidity)  ในทารกเพิ่มขึ้น

ทารกเกิดก่อนกำหนดไม่เพียงแต่มีการสร้างความร้อนได้น้อย  แต่ยังมีโอกาสสูญเสียความร้อนออกจากร่างกายได้ง่าย  ทั้งโดยการนำ   การพา  การระเหย  และการแผ่รังสี  การสูญเสียความร้อนออกจากร่างกาย  โดยการระเหยนั้นเกิดขึ้นโดยการสูญเสียความร้อนไปพร้อมกับการระเหยของน้ำออกจากร่างกาย ที่เรียกว่า insensible water loss ได้แก่ น้ำที่ระเหยจากผิวหนังและเยื่อบุ ทางเดินหายใจ แต่ละ 1  ลูกบาศก์เซนติเมตรของน้ำที่ระเหยจะทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อนถึง 560 แคลอรี่ (Boxwell, 2000)  การสูญเสียน้ำผ่านทางผิวหนัง (Transepidermal water loss, TEWL)  ในทารกเกิดก่อนกำหนดคิดเป็น 2/3 ของ insensible water loss  ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากทารกเกิดก่อนกำหนดมีพื้นผิวร่างกายต่อน้ำหนักตัวและเส้นเลือดบริเวณผิวหนังมาก แต่ผิวหนังบางมีสารเคลือบผิว (keratin)  ซึ่งขัดขวางการซึมผ่านของน้ำทางผิวหนังมีน้อย หรือไม่มีเลย   ทารกที่ยิ่งมีอายุครรภ์น้อยจะยิ่งมี TEWL มาก  ทารกที่มีอายุครรภ์ 25 สัปดาห์  มีการสูญเสียน้ำทางผิวหนังสูงกว่าทารกเกิดครบกำหนด 5 เท่า (Boxwell, 2000)    ทารกเกิดก่อนกำหนดอาจสูญเสียน้ำทางผิวหนังได้มากในช่วง    3 – 4 วันแรกเกิด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1000 กรัม  อาจสูญเสียน้ำได้มากถึง 5 – 6 กรัมต่อน้ำหนักตัว  1  กิโลกรัมต่อชั่วโมง (สันติ  ปุณณะหิตานนท์, 2546)  อย่างไรก็ตามผิวหนังของทารกเกิดก่อนกำหนดจะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วภายหลังเกิดไม่ว่า ทารกจะมีอายุครรภ์มากน้อยเพียงใดผิวหนังชั้นนอกจะเจริญเต็มที่เมื่ออายุ  28 วัน  ดังนั้นการสูญเสียน้ำทางผิวหนังของทารกจะลดลงตามชั้นของผิวหนังที่หนาขึ้น เมื่อทารกอายุมากขึ้น

รูปแสดงการสูญเสียน้ำทางผิวหนังของทารกแรกเกิดซึ่งสัมพันธ์กับอายุครรภ์และ อายุในช่วง 28 วันหลังเกิด
( จาก Hammarlund, K., Sedin, G., & Stromberg, B. Transepidermal water loss in newborn infants :VIII. Relation to gestational age and post-natal age in appropriate and small for gestational age infants Acta Paediatr Scand, 72 : 721, 1983)

 การสูญเสียน้ำออกจากร่างกายทางผิวหนังในทารกเกิดก่อนกำหนดที่มีอายุครรภ์ และน้ำหนักตัวน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3- 4 วันแรกเกิด ไม่เพียงทำให้เกิดปัญหาภาวะอุณหภูมิ กายต่ำ ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนตามมาเช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ขาดออกซิเจน เลือดเป็นกรด หากรุนแรงมากอาจเกิดภาวะเลือดออกในโพรงสมองได้แล้ว การสูญเสียน้ำทางผิวหนังมากยังทำให้น้ำในช่องว่างระหว่างเซล (interstitial space) ลดลงอย่างรวดเร็วเกิดภาวะ hyperosmolar ของ extracellular compartment ทารกจะมีภาวะโซเดียม โปตัสเซียม และน้ำตาลในเลือดสูง และทำให้เสียน้ำออกจากเซลด้วย (สุวิมล สรรพวัฒน์, 2546) ดังนั้นการป้องกันการสูญเสียน้ำทางผิวหนังในทารกกลุ่มดังกล่าวจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

การป้องกันการสูญเสียน้ำทางผิวหนัง 1. ทารกที่อยู่ในตู้อบต้องควบคุมอุณหภูมิของตู้อบให้อยู่ในช่วง neutral thermal environment (NTE) เนื่องจากอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมมีผลต่อการสูญเสียน้ำทางผิวหนังของทารก หากทารกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงกว่า NTE จะทำให้การสูญเสียน้ำทางผิวหนังมีมากขึ้น (Nopper et al., 1996)

2.ทารกที่อยู่ใน radiant warmer จะสูญเสียน้ำทางผิวหนังมากกว่าทารกที่อยู่ในตู้อบ (Flenady, & Woodgate, 2006) โดยทารกจะสูญเสียน้ำทางผิวหนังเพิ่มขึ้น ประมาณร้อยละ 50 – 200 (Nopper et al., 1996) ดังนั้นจึงควรใช้ plastic shield วางครอบทารกไว้ โดยควรเลือก plastic shield ชนิดใสที่ยอมให้พลังงานความร้อนผ่านไปยังทารกได้ ในกรณีที่ไม่มี plastic shield ใช้แผ่นพลาสติกที่ใช้คลุมเก็บอาหาร ที่หาซื้อได้ในท้องตลาด เช่น M-wrap คลุมเหนือตัวทารกโดยพาดระหว่างที่กั้นข้างที่นอนทารกทั้งสองข้าง

3. ใช้แผ่นพลาสติกใสที่ใช้คลุมเก็บอาหาร พันลำตัว แขน ขา และศีรษะทารกไว้ จะช่วยลดการสูญเสียน้ำทางผิวหนังได้ (Kaushal et al., 2005)

4. สวมหมวกให้แก่ทารก เนื่องจากศีรษะมีเนื้อที่ผิวหนังมากจึงเป็นอวัยวะที่เป็นแหล่งสูญเสียความร้อนทางผิวหนังมากที่สุดของร่างกาย (Kenner, 2003)

5. ป้องกันและหลีกเลี่ยงการทำให้ผิวหนังของทารกเกิดการถลอก แตกทำลายมากที่สุด เนื่องจากการสูญเสียน้ำทางผิวหนังจะเพิ่มขึ้น หากผิวหนังของทารกมีการแตกทำลาย (Siegfried, 1998)

5.1 ทารกที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 1000 กรัม ควรให้สารน้ำทางสายสวนหลอดเลือดสะดือ ไม่ควรแทงเข็มน้ำเกลือให้ทางผิวหนัง
5.2 หลีกเลี่ยงการปิดถุงเก็บปัสสาวะโดยไม่จำเป็น ใช้การชั่งผ้าอ้อมในการประเมินปริมาณปัสสาวะของทารกเป็นลูกบาศก์เซนติเมตร
5.3ใช้ Tegaderm ขนาดเหมาะสมปิดบนผิวหนังทารก ก่อนการปิดพลาสเตอร์หรือแถบกาวบนผิวหนังบริเวณนั้นๆ
5.4 ทารกที่ได้รับการรักษาด้วยการส่องไฟ (Phototherapy) จะต้องดูแลให้ทารกได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดด้วยจำนวนตรงตามแผนการรักษาของแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากการส่องไฟจะทำให้ทารกมีการสูญเสียน้ำทางผิวหนังเพิ่มขึ้น ประมาณร้อยละ 50 (สุวิมล สรรพวัฒน์, 2546)  แพทย์จึงคิดคำนวณสารน้ำที่ทารกควรจะได้รับทดแทนอย่างพอเพียง หากทารกได้รับสารน้ำไม่เพียงพอจะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำตามมาได้อีกด้วย