ภาวะติดเชื้อในระยะแรกในทารกแรกเกิด

พยาบาลกับการเฝ้าระวัง

พยาบาลกับการเฝ้าระวัง

ภาวะติดเชื้อในทารกแรกเกิด (neonatal sepsis )เป็นกลุ่มอาการทางคลินิกที่เกิดจากการติดเชื้อในกระแสโลหิตของทารกแรกเกิด ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุการตายและความพิการที่สำคัญในประเทศไทย ภาวะติดเชื้อในระยะแรก ( early sepsis ) เป็นภาวะที่การติดเชื้อนั้นเกิดขึ้นระหว่าง 72 ชั่วโมงหรือสัปดาห์แรกหลังเกิด ( Makhoul,et al,2002, Behrman, Kleigman&Jenson, 2003 ) ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเนื่องจากทารกได้รับเชื้อโรคจากร่างกายของมารดาซึ่งอาจเข้าสู่ร่างกายทารกได้ 4 ทางคือ1)เชื้อจากช่องคลอดเข้าไปในถุงน้ำคร่ำทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อที่สายสะดือและเข้าสู่ร่างกายทางหลอดเลือดของสายสะดือ 2)ทารกหายใจหรือกลืนเอาน้ำคร่ำที่มีเชื้อโรคปนอยู่ 3)เชื้อโรคติดอยู่กับผิวหนังหรือเยื่อบุต่างๆ ของทารกขณะผ่านช่องคลอดของมารดา 4) ทารกได้รับเชื้อจากมารดาที่มีการติดเชื้อในกระแสโลหิตในระยะก่อนคลอดผ่านทางรก เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของภาวะติดเชื้อในระยะแรกที่พบบ่อยคือแบคทีเรียกลุ่มกรัมบวก ได้แก่ group B streptococci (GBS) ,enterococci, S.pneumoniae, S.aureus และแบคทีเรียกลุ่มกรัมลบได้แก่ E.coli, K. pneumonia

การเฝ้าระวังมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ทารกแรกเกิดที่มีภาวะติดเชื้อในระยะแรกได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้ทันการณ์ ซึ่งจะนำไปสู่การลดอัตราตายของทารกแรกเกิดจากการติดเชื้อได้ และพยาบาลมีบทบาทเป็นอย่างมากในการเฝ้าระวังภาวะติดเชื้อในระยะแรกในทารกแรกเกิด

บทบาทของพยาบาล

1. บ่งชี้ ( identify ) ทารกแรกเกิดที่มีโอกาสเกิดภาวะติดเชื้อในระยะแรก โดยการบ่งชี้จากปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้
1.1 ปัจจัยด้านมารดา
1.1.1 มารดามีการติดเชื้อในน้ำคร่ำ ( chorioamnionitis ) ซึ่งมารดาจะมีอาการทางคลินิกดังนี้
1.1.1.1. มีไข้ ( มากกว่า 38ºc ) ร่วมกับมี leukocytosis
1.1.1.2. มีอาการเจ็บมดลูก ( uterine tenderness )
1.1.1.3. น้ำคร่ำมีกลิ่นเหม็น
1.1.1.4. มารดาหรือทารกมีหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ( fetal heart rate > 160 ครั้ง/นาที )
1.1.1.5. ถ้านำน้ำคร่ำไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์พบ PMN มากกว่า 3-5 เซลล์/high power field หรือพบเชื้อโรค

1.1.2 ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนคลอดเป็นเวลานาน ( premature rupture of membrane,PROM ) โดยเฉพาะถ้านานกว่า 18 หรือ 24 ชั่วโมงก่อนทารกเกิด
1.1.3 การคลอดนานมากกว่า 20 ชั่วโมง
1.1.4 มีประวัติperinatal death โดยไม่ทราบสาเหตุหรือทราบว่าเกิดจากการติดเชื้อ
1.1.5 มีเชื้อ group B streptococcus colonization หรือ E. coli ใน genital tract
1.1.6 มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
1.1.7 ได้รับยาประเภท steroids และ tocolytic agents ( เช่น magnesium และ indomethacin ) จำนวนหลายๆ ครั้งขณะตั้งครรภ์
1.1.8 คลอดโดยการทำหัตถการ

1.1.9 ตั้งครรภ์แฝด

1.2  ปัจจัยด้านทารก
1.2.1 เกิดก่อนกำหนด
1.2.2 มี perinatal asphyxia
1.2.3 ใส่สายสวนหลอดเลือดสะดือ