ภาพคุณพ่อใส่เป้อุ้มเด็ก มีลูกน้อยหลับซบแนบอก ได้ยินเสียงหัวใจคุณพ่อแสนอบอุ่นคนนั้น เต้นตึกตักกล่อมหลับแม้รอบข้างจะอึกทึกครึกโครมด้วยบรรยากาศห้างสรรพสินค้าจอแจ
คนส่วนใหญ่ที่เห็นภาพแบบนี้ ย่อมไม่มีใครรู้สึกไม่ดีกับผู้ชายอุ้มลูกเดินห้าง รวมทั้งหญิงสาวหรือแม่ๆ อีกหลายคนที่มองมา คงมีอิจฉาตาร้อนค้อนใส่แบบครึ้มๆ กันบ้าง
แต่ที่เด็ดกว่าการอุ้มลูกให้ภรรยาช้อปปิ้งสบายๆ ในห้างได้น่าอิจฉากว่า น่าจะเป็นเรื่องเล่าของพ่อผู้อ่านหนังสือกับลูกตั้งแต่แบเบาะจนโตทุกคืน… ซึ่งหนังสือทุกเล่ม คือทางลัดของประสบการณ์และพัฒนาการที่โดดเด่นที่สุด ส่งผลต่ออนาคตของลูกได้ชัดเจนที่สุด โดยมีรายงานการศึกษาวิจัยมากมายยืนยัน
งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในห้วข้อ The effects of fathers’ and mothers’ reading to their children on language outcomes of children participating in Early Head Start in the United States โดย Dr. Elisabeth Duursma จาก University of Wollongong ในออสเตรเลีย ซึ่งได้ศึกษาเปรียบเทียบผลการอ่านหนังสือให้ลูกวัยทารกฟังระหว่างบิดากับมารดา จากครอบครัวรายได้น้อย 430 ครอบครัว พบพัฒนาการทางภาษาและสติปัญญาอย่างชัดเจนจากทารกที่บิดาอ่านหนังสือให้ลูกวัย 24–36 เดือนฟังก่อนนอนสัปดาห์ละครั้ง…
ในรายงานการวิจัยของ Dr. Elisabeth Duursma จึงอภิปรายไว้ตอนหนึ่งว่า การอ่านหนังสือโดยบิดาให้ทารกก่อนอายุ 2 ขวบปีฟัง ถือเป็นเรื่องพิเศษที่มีผลต่อสติปัญญาและพัฒนาการทางภาษาของลูกอย่างมีนัยยะสำคัญ
ประเด็นก็คือ ผู้ชายกับผู้หญิงมีวิธีการอ่านหนังสือต่างกัน โดยเฉพาะการอ่านหนังสือให้ลูกๆ หรือเด็กๆ ฟังแบบมีการแทรกเทคนิคคำถาม หรือแกล้งออกเสียงผิดเพี้ยนโดยเจตนาให้ลูกๆ จับผิดได้ หรือเปรียบเทียบเรื่องราวให้ลูกๆ จินตนาการต่อ… หรือแม้แต่แกล้งอ่านไม่ออก หรือหยุดผันเสียงผสมอักษร ซึ่งค่าเฉลี่ยของการใช้จินตนาการของผู้ชายหรือบิดา จะมีมากกว่ามารดาหรือผู้หญิง
นอกจากนั้น กิจกรรมการอ่านหนังสือกับลูก ถือว่าเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ และใช้เวลาอย่างมีคุณภาพกับลูก ซึ่งจะช่วยลดพฤติกรรมก้าวร้าว ดื้อ ซน ไม่เชื่อฟัง และเพิ่มสมาธิทำให้อยู่นิ่งได้มากขึ้น… เพราะระหว่างการฟังเสียงอ่าน เด็กๆ จะสนใจและอยู่นิ่งจนกลายเป็นพฤติกรรมพึงประสงค์ที่ส่งผลดีมากมายต่ออนาคตของลูกๆ
งานวิจัยของ Vaheshta Sethna และคณะ ศึกษาการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูก ณ ตอนทารกอายุ 3 เดือน และ 24 เดือน จำนวน 192 คน ในเด็กเกิดครบกำหนด น้ำหนักแรกเกิดมากกว่า 2500 กรัม โดยเก็บข้อมูลเป็นเวลา 2 ปี พบว่า ในทารกที่พ่อมีปฏิสัมพันธ์กับลููกตั้งแต่ 3 เดือนมีอิทธิพลต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของทารกเมื่ออายุ 1 ปีเช่นกัน

คำแนะนำคือ… ขอให้พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังให้ได้มากและบ่อยที่สุด โดยเฉพาะเสียงอ่านจากคุณพ่อจอมลีลา หรือจะแพคคู่อ่านด้วยกันมีเสียงอ่านหวานๆ จากคุณแม่ด้วย ก็จะทำให้ลูกมีประสบการณ์จากความหลากหลาย ซึ่งมีผลดีมากมายต่อลูกน้อย เช่น
- กระชับสายสัมพันธ์พ่อแม่ลูก
- พัฒนาทักษะภาษาของลูกน้อย
- พัฒนาทักษะสังคมของลูกน้อย
- พัฒนาอารมณ์และจิตใจของลูกน้อย
- พัฒนาสติปัญญาและกระตุ้นสมองส่วนหน้าของลูกน้อยโดยตรง
โอกาสหน้า! จะหาหนังสือดีๆ มาแนะนำ
Reference…