ทารกแรกเกิดที่มีภาวะเสี่ยงหมายถึงทารกแรกเกิดที่มีโอกาสหรือความไวสูงต่อการเจ็บป่วย พิการ หรือตาย ทารกและครอบครัวต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ พยาบาล ช่วงที่ถือว่าทารกอายู่ในภาวะเสี่ยง นับแต่เวลาที่เกิดเหตุการณ์ใดก็ตามที่มีผลต่อชีวิตและสุขภาพทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ระยะคลอด หลังคลอด จนถึงอายุ 28 วัน
ข้อบ่งชี้ของทารกแรกเกิดที่มีภาวะเสี่ยง
พิจารณาปัจจัยจากมารดาในขณะตั้งครรภ์ และขณะคลอด รวมทั้งสามารถประเมินจากตัวทารกภายหลังคลอด
1. ปัจจัยทางมารดา เช่น
1.1 มารดามีโรคเจ็บป่วยเรื้อรังขณะตั้งครรภ์ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ฯลฯ
1.2 ความผิดปกติของรก เช่น รกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด รกขาดเลือดเรื้อรังในภาวะ Pre-eclampsia
1.3 การคลอดผิดปกติ เช่น น้ำเดินเกิน 24 ชั่วโมง คลอดลำบาก คลอดนาน
2. ปัจจัยจากทารก เช่น ทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักหรืออายุในครรภ์มากหรือน้อยกว่าปกติ Apgar score ต่ำกว่า 7 มีความพิการแต่กำเนิด มีภาวะเจ็บป่วย เป็นต้น
การจำแนกประเภทของทารกแรกเกิด
1. จำแนกตามน้ำหนักแรกเกิดทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย ปกติ มาก
2. จำแนกตามอายุในครรภ์ : ทารกเกิดก่อนกำหนด ครบ และหลังกำหนด
3. จำแนกตามน้ำหนักแรกเกิดและอายุในครรภ์ โดยนำน้ำหนักแรกเกิดและอายุในครรภ์เทียบกับ Intra uterine growth curve สามารถกำหนดได้ดังนี้
3.1 ทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยกว่าอายุในครรภ์ (SGA) หมายถึง ทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเปอร์เซนต์ไทล์ที่ 10 เมื่อเทียบกับทารกปกติที่มีอายุในครรภ์เท่ากันหรือเรียกว่าทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักต่ำกว่าอายุครรภ์
3.2 ทารกแรกเกิดน้ำหนักเหมาะสมกับอายุในครรภ์ (AGA) หมายถึง ทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักอยู่ระหว่างเปอร์เซนต์ไทล์ที่ 10 ถึง 90 เมื่อเทียบกับทารกปกติที่มีอายุในครรภ์เท่ากัน หรือเรียกว่า ทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักเหมาะสมกับอายุครรภ์
3.3 ทารกแรกเกิดน้ำหนักมากกว่าอายุในครรภ์ (LGA) หมายถึง ทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักมากกว่าเปอร์เซนต์ไทล์ที่ 90 เมื่อเทียบกับทารกปกติที่มีอายุในครรภ์เท่ากันหรือเรียกว่าทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักมากกว่าอายุครรภ์
1. ทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย (Low birth weight)
ทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย หมายถึง ทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่า 2,500 กรัม ซึ่งอาจจะเป็นทารกเกิดก่อนกำหนด ครบกำหนดหรือหลังครบกำหนดก็ได้
อุบัติการของทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย
ในประเทศไทยอุบัติการทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยยังคงสูงอยู่ ค่าเฉลี่ยของทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยของประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546- 2548 เป็นร้อยละ 8.86 , 8.50 และ 8.7 ตามลำดับ (กรมอนามัย, 2549) ภาคเหนือเป็นภาคที่มีอุบัติการณ์ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยสูงที่สุด ปี พ.ศ. 2546 พบได้ร้อยละ 9.84 ส่วนใหญ่ของทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย เป็นทารกเกิดก่อนกำหนด อัตราตายของทารกยังสูงอยู่เช่นกัน ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (2550 – 2554) ได้กำหนดเป้าหมายว่าจะลดอัตราการเกิดทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยให้เหลือไม่เกินร้อยละ 7
องค์ประกอบที่ทำให้ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อย
มีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง 3 ประการ คือ
1. องค์ประกอบด้านมารดา สาเหตุจาก ความผิดปกติหรือความเจ็บป่วยของมารดาขณะตั้งครรภ์ เช่น มารดาเป็นโรคความดันโลหิตสูง
2. องค์ประกอบด้านทารก เช่น ทารกแฝด พิการหรือติดเชื้อแต่กำเนิด
3. องค์ประกอบด้านรก เช่น รกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด
1.1 ทารกเกิดก่อนกำหนด (Premature infant)
ทารกเกิดก่อนกำหนด หมายถึง ทารกแรกเกิดที่มีอายุในครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ โดยไม่คำนึงถึงน้ำหนักตัว
อายุของทารกเกิดก่อนกำหนดสามารถจำแนกได้ ดังนี้
1. อายุในครรภ์ (gestational age: GA) นับอายุเป็นสัปดาห์ที่อยู่ในครรภ์มารดา
2. อายุหลังเกิด (chronological age) นับอายุหลังเกิดเป็นวันหรือสัปดาห์)
3. อายุหลังปฏิสนธิ (Postconceptional age: PCA) นับอายุในครรภ์รวมกับอายุหลังเกิด ใช้นับไม่เกิน 40 สัปดาห์